วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชื่อเรื่อง ( The Title )


                    http://www.watpon.com/Elearning/res19.htm  ได้รวบรวมและกล่าวถึงชื่อเรื่องวิจัยไว้ว่า  ชื่อเรื่องวิจัยนับเป็นจุดแรกที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในปัญหารวมทั้งวิธีการดำเนินการวิจัยของผู้วิจัยอีกด้วย   ดังนั้น  การตั้งชื่อเรื่องวิจัยจึงต้องเขียนให้ชัดเจน เข้าใจง่าย  ไม่เขียนอย่างคลุมเครือ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงต้องระมัดระวังในการตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้เหมาะสม  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
                1.  ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้สั้น  โดยใช้คำที่เฉพาะเจาะจง หรือสื่อความหมายเฉพาะเรื่อง และควรเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย กะทัดรัด แต่ชื่อเรื่องก็ไม่ควรจะสั้นเกินไปจนทำให้ขาดความหมายทางวิชาการ
                2.  ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้ตรงกับประเด็นของปัญหา  เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วจะได้ทราบว่าเป็นการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาอะไรได้ทันที  อย่างตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ทำให้ผู้อ่านตีความได้หลายทิศทาง  และอย่าพยายามทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเกินความเป็นจริง
                3.  ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยโดยการใช้คำที่บ่งบอกให้ทราบถึงประเภทของการวิจัย  ซึ่งจะทำให้ชื่อเรื่องชัดเจน และเข้าใจง่ายขึ้น เช่น
                                3.1  การวิจัยเชิงสำรวจ มักใช้คำว่า การสำรวจ หรือการศึกษาในชื่อเรื่องวิจัยหรืออาจระบุตัวแปรเลยก็ได้ เช่น การศึกษาการใช้สารเคมีของชาวอีสาน หรือการสำรวจการใช้สารเคมีของชาวอีสาน หรือการใช้สารเคมีของชาวอีสาน เป็นต้น
                                3.2   การวิจัยเชิงศึกษาเปรียบเทียบ การตั้งชื่อเรื่องวิจัยในลักษณะนี้ มักจะใช้คำว่า การศึกษา เปรียบเทียบ หรือการเปรียบเทียบ นำหน้า เช่น การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านของนักเรียนในเขตและนอกเขตเทศบาล ของจังหวัดมหาสารคาม
                                3.3  การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ การวิจัยประเภทนี้จะใช้คำว่า การศึกษาความสัมพันธ์ หรือความสัมพันธ์ นำหน้าชื่อเรื่องวิจัย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกับพ่อแม่และการปรับตัวของวัยรุ่น เป็นต้น
                                3.4  การวิจัยเชิงการศึกษาพัฒนาการ การวิจัยประเภทนี้มักใช้คำว่า การศึกษาพัฒนาการหรือพัฒนาการ นำหน้าชื่อเรื่องวิจัย เช่น การศึกษาพัฒนาการด้านการเขียนของเด็กก่อนวัยเรียนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม
                                3.5  การวิจัยเชิงทดลอง การตั้งชื่อเรื่องวิจัยประเภทนี้อาจตั้งชื่อได้แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของการทดลอง เช่น อาจใช้คำว่า การทดลอง การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การศึกษา การเปรียบเทียบ ฯลฯ นำหน้า หรือาจจะไม่ใช้คำเหล่านี้นำหน้าก็ได้ เช่น การทดลองเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในจังหวัดอ่างทอง การวิเคราะห์หาปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นในปลายรากข้าวโพดหลังจากแช่ในสารละลายน้ำตาลชนิดต่าง ๆ การสังเคราะห์กรดไขมันจากอะเซติลโคเอ การศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ ในยางมะละกอ การเปรียบเทียบการสอนอ่านโดยวิธีใช้ไม่ใช้การฟังประกอบ การสกัดสารอินดิเคเตอร์จากดอกอัญชัน ฯลฯ
                4.  ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยในลักษณะของคำนาม  ซึ่งจะทำให้เกิดความไพเราะ สละสลวยกว่าการใช้คำกริยานำหน้าชื่อเรื่อง เช่น แทนที่จะใช้คำว่า ศึกษา เปรียบเทียบ สำรวจ ก็ควรใช้คำที่มีลักษณะเป็นคำนามนำหน้า เช่น การศึกษา การเปรียบเทียบ การสำรวจ ฯลฯ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                                ไม่ดี        :             ศึกษาวงจรชีวิตของเห็บสุนัข
                                ดีขึ้น       :             การศึกษาวงจรชีวิตของเห็บสุนัข
                                ไม่ดี        :
            เปรียบเทียบความเกรงใจระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงของ 
                                                            
โรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองเลย
                                ดีขึ้น       :
             การเปรียบเทียบความเกรงใจระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิง
                                                             ของโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองเลย

                5.  ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ประกอบด้วยข้อความเรียงที่สละสลวยได้ใจความสมบูรณ์คือเป็นชื่อเรื่องที่ระบุให้ทราบตั้งแต่จุดมุ่งหมายของการวิจัย ตัวแปร และกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษาวิจัยด้วย เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนการสอบคัดเลือกกับเกรดเฉลี่ยสะสมและเจตคติต่อวิชาชีพครูของนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2544
                อนึ่ง นักวิจัยบางท่านก็นิยมเขียนชื่อเรื่องวิจัยสั้น ๆ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดลงไป เช่น บุคลิกภาพของนักศึกษาครู เป็นต้น
                 
                ลัดดาวัลย์  เพชรโรจน์  และอัจฉรา  ชำนิประศาสน์(2537:33)  กล่าวว่า  การตั้งชื่อเรื่องวิจัยมีแนวคิดแบ่งออกได้เป็น  2  แนวคิด  คือ  การตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้มีความหมาย   มีความยาวเท่าใดก็ได้แต่ต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน  ให้ผู้อ่านงานวิจัยรู้ว่าทำการวิจัยอะไร  กับใคร ที่ไหน  เมื่อใด  การตั้งชื่อเรื่องวิจัยอย่างสั้น ๆ ที่บอกความสัมพันธ์ของตัวแปรต้นและตัวแปรตาม ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ จะอยู่ในขอบเขตของการวิจัย
                
                เอกวิทย์  แก้วประดิษฐ์(2534:32)  กล่าวว่า  ต้องเป็นชื่อที่กะทัดรัด มีเนื้อความที่ชัดเจน มีความหมายในตัวมันเอง  โดยสามารถสื่อความหมายให้ผู้อื่นทราบได้ต้องตั้งชื่อให้แสดงถึงมโนมติ (Concept) ของตัวแปรหรือแสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรในปัญหานั้นๆ ต้องใช้ภาษาให้ชัดเจนเข้าใจง่าย ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยของผู้อื่น ถึงแม้ประเด็นที่ศึกษาจะคล้ายกันก็ตาม


สรุป               
                 ชื่อเรื่องวิจัยนับเป็นจุดแรกที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในปัญหารวมทั้งวิธีการดำเนินการวิจัยของผู้วิจัย  การตั้งชื่อเรื่องวิจัยมีแนวคิดแบ่งออกได้เป็น  2  แนวคิด  คือ  การตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้มีความหมาย   มีความยาวเท่าใดก็ได้แต่ต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน  ให้ผู้อ่านงานวิจัยรู้ว่าทำการวิจัยอะไร  กับใคร ที่ไหน  เมื่อใด  การตั้งชื่อเรื่องวิจัยอย่างสั้น ๆ ที่บอกความสัมพันธ์ของตัวแปรต้นและตัวแปรตาม ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ จะอยู่ในขอบเขตของการวิจัย  และชื่อเรื่องต้องเป็นชื่อที่กะทัดรัด มีเนื้อความที่ชัดเจน มีความหมายในตัวมันเอง  โดยสามารถสื่อความหมายให้ผู้อื่นทราบได้ต้องตั้งชื่อให้แสดงถึงมโนมติ (Concept) ของตัวแปรหรือแสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรในปัญหานั้นๆ ต้องใช้ภาษาให้ชัดเจนเข้าใจง่าย ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยของผู้อื่น ถึงแม้ประเด็นที่ศึกษาจะคล้ายกันก็ตาม




ที่มา
http://www.watpon.com/Elearning/res19.htm    เข้าถึงเมื่อวันที่   3  ธันวาคม  2555.
ลัดดาวัลย์  เพชรโรจน์ และอัจฉรา ชำนิประศาสน์.  (2547).  ระเบียบวิธีการวิจัย.  กรุงเทพฯ :  พิมพ์ดีการพิมพ์  จำกัด.
เอกวิทย์  แก้วประดิษฐ์.  (2537).  การวิจัยเทคโนโลยีการศึกษา.  กรุงเทพฯ :  สุวีริยาสาส์น จัดพิมพ์.





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น